ธาตุเจ้าเรือน ตามหลักแพทย์แผนไทย
ธาตุเจ้าเรือนคืออะไรในทฤษฎีการแพทย์แผนไทย เชื่อว่า การเกิดชีวิตใหม่จะเกิดขึ้นได้ ต้องมีพ่อมีแม่ที่มีลักษณะของหญิง-ชาย ครบถ้วน หมายถึง พ่อมีลักษณะของชายครบ และแม่มีลักษณะของหญิงครบ โดยให้ความหมายของชีวิตไว้ว่า ชีวิตคือขันธ์ 5 อัน ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ
- รูป หมายถึง รูปร่าง ร่างกาย หรือสิ่งที่เป็นรูปธรรม ซึ่งในพระไตรปิฎกได้อธิบายไว้ว่า รูปมีมหาภูตรูป 4 ได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ และรูปที่เกิดจากมหาภูตรูป เรียกว่าอุปทายรูป ได้แก่ อากาศ ประสาททั้ง 5 ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เกิดรูป รส กลิ่น เสียง เป็นอาภรณ์ 4
- เวทนา ได้แก่ ความรู้สึกต่างๆ ซึ่งเกิดจากประสาททั้ง 5 เป็นต้น
- สัญญา ได้แก่ ความจำต่างๆ การกำหนดรู้อาการ จำได้หมายรู้
- สังขาร หมายถึง การปรุงแต่งของจิต ความคิดที่ผูกเป็นเรื่องเป็นราว ส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าสังขารคือร่างกาย เช่น มักพูดว่า “คนแก่ไม่เจียมสังขาร” หมายถึง ทำอะไรเกินกว่าร่างกายซึ่งชราจะรับได้แท้จริงสังขารเป็นความนึกคิดก่อ หรือผูกเป็นเรื่องราวนั่นเอง
- วิญญาณ คือ ความรู้แจ้งของอารมณ์เช่น วิญญาณนักต่อสู้ หมายถึง เป็นผู้มีอารมณ์บากบั่นตั้งมั่น ต้องสู้สุดใจ ผู้มีวิญญาณเป็นนักประชาธิปไตย หมายถึง การมีอารมณ์ลึกซึ้ง ชัดแจ้ง จะทำอะไรก็อยู่ในอารมณ์ของนักประชาธิปไตย มีใจตั้งมั่นในสิทธิเสรีภาพ เป็นต้น คนทั่วไปคิดว่าวิญญาณคือผี เชื่อว่าเมื่อตายไปแล้ววิญญาณออกจากร่างไปเป็นผีแท้จริงแล้วเมื่อตายไปแล้วก็หมดความรู้สึก ไม่มีอารมณ์อีกแล้วนั่นเอง
จะเห็นได้ว่าชีวิตคือขันธ์ 5 ซึ่งคือร่างกายและจิตใจนั่นเอง มนุษย์ที่เกิดมาต่างก็มีชีวิตแตกต่างกันไป มีรูปร่าง
หน้าตาแตกต่างกัน มีความรู้สึกนึกคิดและจิตสำนึก ความรู้แจ้งทางอารมณ์หรือที่เรียกว่าวิญญาณที่แตกต่างกันไป ทาง
การแพทย์แผนปัจจุบันเชื่อว่า การที่มีความแตกต่างและความเหมือนกัน ถูกกำหนดโดยสารพันธุกรรมที่เรียกว่า “ดีเอ็น
เอ” เป็นรหัสของชีวิตที่มนุษย์ได้รับการถ่ายทอดจากมารดาและบิดา เป็นลักษณะทั่วๆ ไปของมนุษย์
ทางการแพทย์แผนไทยมีความเชื่อในเรื่องธรรมชาติว่า การเกิดรูปครั้งแรกในครรภ์มารดามีขนาดเล็กมาก ขนาดเท่ากับหยดน้ำมันงาที่ติดอยู่ปลายขนจามรี หลังจากถูกสะบัด ถึง 7 ครั้ง และด้วยอิทธิพลของธาตุไฟก่อน จึงเกิดธาตุอื่น ตามมาจนครบธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ลม และไฟ แล้วจึงเกิดเวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณจนครบขันธ์ 5 เมื่อครรภ์ ครบ 5 เดือน นั่นคือชีวิตได้เกิดแล้ว และด้วยอิทธิพลธรรมชาติ ได้แก่ ความร้อน ความเย็นของภูมิอากาศตามฤดูกาล ได้ทำให้ธาตุทั้ง 4 ของแต่ละคนแตกต่างกันไปและเริ่มมีอิทธิพลแล้วในครรภ์มารดา ดังพระคัมภีร์ปฐมจินดากล่าวไว้ว่า
เมื่อตั้งครรภ์ในฤดูอันใด ธาตุอันใด ให้เอาธาตุของฤดูนั้นเป็นที่ตั้งแห่งธาตุกำเนิดของกุมารกุมารีนั้นๆ เช่น
- ตั้งครรภ์ในเดือน 5, 6, 7 เป็นลักษณะแห่งไฟ
- ตั้งครรภ์ในเดือน 8, 9, 10 เป็นลักษณะแห่งลม
- ตั้งครรภ์ในเดือน 11, 12, 1 เป็นลักษณะแห่งน้ำ
- ตั้งครรภ์ในเดือน 2, 3, 4 เป็นลักษณะแห่งดิน
- ผู้ที่เกิดเดือน 5, 6, 7 จะมีธาตุลมเป็นเจ้าเรือน
- ผู้ที่เกิดเดือน 8, 9, 10 จะมีธาตุน้ำเป็นเจ้าเรือน
- ผู้ที่เกิดเดือน 11, 12, 1 จะมีธาตุดินเป็นเจ้าเรือน
- ผู้ที่เกิดเดือน 2, 3, 4 จะมีธาตุไฟเป็นเจ้าเรือน
จุดอ่อน หรือลักษณะของธาตุเสียสมดุลแตกต่างกันตามธาตุเจ้าเรือนนั้นๆ
ลักษณะของ ธาตุเจ้าเรือน เป็นอย่างไร
องค์ประกอบของธาตุที่รวมกันอยู่อย่างปกตินั้น จะมีธาตุอย่างใดอย่างหนึ่งเด่น หรือมากกว่าอย่างหนึ่ง เรียกว่า เจ้า
เรือน ซึ่งจะมีลักษณะแตกต่างกันไปในแต่ละคน โดยแต่ละธาตุหลักทั้ง 4 จะมีลักษณะที่แสดงออกเป็นเจ้าเรือน ดังนี้
- ธาตุดินเจ้าเรือน จะมีรูปร่างสูงใหญ่ ผิวค่อนข้างคล้ำ ผมดกดำ เสียงดังฟังชัด ข้อกระดูกแข็งแรง กระดูกใหญ่ น้ำหนักตัวมาก ล่ำสัน อวัยวะสมบูรณ์
- ธาตุน้ำเจ้าเรือน จะมีรูปร่างสมบูรณ์ อวัยวะสมบูรณ์ สมส่วน ผิวพรรณสดใสเต่งตึง ตาหวาน น้ำในตามาก ท่าทางเดินมั่นคง ผมดกดำงาม กินช้า ทำอะไรชักช้า ทนหิว ทนร้อน ทนเย็นได้ดีเสียงโปร่ง มีลูกดกหรือมีความรู้สึกทางเพศดีแต่มักเฉื่อยและค่อนข้างเกียจคร้าน
- ธาตุไฟเจ้าเรือน มักขี้ร้อน ทนร้อนไม่ค่อยได้ หิวบ่อย กินเก่ง ผมหงอกเร็ว มักหัวล้าน หนังย่น ผม ขนหนวด ค่อนข้างนิ่ม ไม่ค่อยอดทน ใจร้อน ข้อกระดูกหลวม มีกลิ่นปาก กลิ่นตัวแรง ความต้องการทางเพศปานกลาง
- ธาตุลมเจ้าเรือน จะมีผิวหนังหยาบแห้ง รูปร่างโปร่ง ผอม ผมบาง ข้อกระดูกลั่นเมื่อเคลื่อนไหว ขี้อิจฉา ขี้ขลาด รักง่ายหน่ายเร็ว ทนหนาวไม่ค่อยได้ นอนไม่คอยหลับ ช่างพูด เสียงต่ำ ออกเสียงไม่ชัด มีลูกไม่ดก คือความรู้สึกทางเพศไม่ค่อยดี
ที่อยู่อาศัย หรือสิ่งแวดล้อม เรียกว่า “ประเทศสมุฏฐาน” ย่อมมีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่และสุขภาพ ได้แก่
- ประเทศร้อน สถานที่ที่เป็นภูเขาสูง เนินผา มักเจ็บป่วยด้วยธาตุไฟ เช่น คนภาคเหนือ จะเจ็บป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับไข้ต่างๆ
- ประเทศเย็น สถานที่ที่เป็นน้ำฝน โคลนตม มีฝนตกชุก มักเจ็บป่วยด้วยธาตุลม เช่น คนภาคกลาง จะเจ็บป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับลมต่างๆ
- ประเทศอุ่น สถานที่ที่เป็นน้ำฝนกรวดทราย เป็นที่เก็บน้ำไม่อยู่ มักเจ็บป่วยด้วยธาตุน้ำ เช่น คนภาคอีสาน จะเจ็บป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับนิ่ว
- ประเทศหนาว สถานที่ที่เป็นน้ำเค็ม มีโคลนตมชื้นแฉะ ได้แก่ ชายทะเล มักเจ็บป่วยด้วยธาตุดิน เช่น ภาคใต้ จะเจ็บป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับฝี
นำอาการที่ได้จากการบอกเล่า และตรวจพบมาประมวล จะสามารถบอกถึงสภาวะสุขภาพของผู้ป่วย โดยยึด
หลักเกณฑ์เกี่ยวกับตัวสุขภาพ หรือตัวควบคุมธาตุทั้งสี่ ได้แก่
- ธาตุดิน มีสิ่งสำคัญในการควบคุมสุขภาพอยู่ 3 อย่าง คือ
– หทัยวัตถุมีที่ตั้งที่หัวใจ ควบคุมความสมบูรณ์ของหัวใจ เช่น ลักษณะ ขนาด การทำงาน การเต้น ความสมบูรณ์ของกล้ามเนื้อหัวใจ บางตำรากล่าวว่าหทัยวัตถุเป็นที่ตั้งของจิต
– อุทริยะ หมายถึง อาหารใหม่ คืออาหารที่รับประทานเข้าไปใหม่ๆ นั่นเอง การซักประวัติการกินอาหารก่อนป่วย มีความจำเป็นมาก เพราะอาหาร คือธาตุภายนอกที่เรานำเข้าไปบำรุง หรือปรับธาตุภายใน เรื่องอาหารจึงสำคัญที่สุด ไม่ว่าจะเป็นแพทย์แผนใด โรคทางแผนโบราณจึงมีเรื่องเกี่ยวกับการกินที่เรียกว่า “กินผิด” คือกินไม่ถูกกับธาตุจะเจ็บป่วย กินไม่ถูกกับโรคทำให้อาการแย่ลง ดังนั้น การแพทย์แผนไทยใช้วิธีการกินสมุนไพร อาหารสมุนไพร มาแก้ไขการเสียสมดุลนี้เป็นการลองผิดลองถูกมายาวนาน จนสรุปเป็นหลักการและเหตุผล
– กรีสัง หมายถึง อาหารเก่า คือ กากอาหารในลำไส้ใหญ่ที่จะออกมาเป็นอุจจาระนั่นเอง ลักษณะของอุจจาระเป็นตัวบ่งบอกสุขภาพ อุจจาระหยาบ ละเอียด ก้อนแข็งหรือเหลว กลิ่นอุจจาระเป็นเช่นไร เช่น กลิ่นเหมือนปลาเน่าธาตุน้ำเป็นเหตุกลิ่นเหมือนหญ้าเน่าธาตุไฟเป็นเหตุ กลิ่นเหมือนข้าวบูดธาตุลมเป็นเหตุกลิ่นเหมือนศพเน่าธาตุดินเป็นเหตุ เป็นต้น โบราณว่าไว้สุขภาพจะดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับกรีสะ (อุจจาระหรืออาหารเก่า) เป็นตัวควบคุม
- ธาตุน้ำ มีสิ่งสำคัญในการควบคุมสุขภาพอยู่ 3 อย่าง คือ
– ศอเสมหะ ควบคุมน้ำบริเวณคอขึ้นไปเกี่ยวกับเสมหะ น้ำมูกมีหรือไม่อย่างไร มีมากเวลาใด อาจหมายถึงการทำงานของต่อมต่างๆ ที่ผลิตน้ำเมือก น้ำมูกบริเวณดังกล่าว
– อุระเสมหะ ควบคุมน้ำบริเวณอกเหนือกลาง ตัวจากคอมาถึงบริเวณลิ้นปี่ เหนือสะดือ การซักถามจะต้องถามถึงการไอ เสมหะเป็นอย่างไร การหอบ การอาเจียน น้ำที่ออกมาเป็นอย่างไร การปวดท้องเกี่ยวกับน้ำย่อยในกระเพาะ อาจจะหมายถึงการทำงานของต่อมน้ำมูก เมือกในปอด หลอดลม น้ำในกระเพาะอาหาร น้ำดี น้ำย่อยในลำไส้เล็ก
– คูถเสมหะ ควบคุมน้ำช่วงล่างจากสะดือลงไป อาจเป็นน้ำมูกเมือก น้ำในลำไส้น้ำในอุจจาระ น้ำปัสสาวะ น้ำในมดลูก ช่องคลอด (ถ้าเป็นหญิง) และน้ำอสุจิ (ถ้าเป็นชาย) จึงต้องซักประวัติเกี่ยวกับอาการที่เกี่ยวข้อง เช่น การถ่ายปัสสาวะ อุจจาระ ลักษณะเหลว หรือแข็ง มีน้ำมากน้อยเพียงใด ผิดปกติอย่างไร
- ธาตุลม มีสิ่งสำคัญในการควบคุมสุขภาพอยู่ 3 อย่าง คือ
– หทัยวาตะ ลมที่ควบคุมอารมณ์ จิตใจ การเต้นของหัวใจ ความหวั่นไหว ความกังวล
– สัตถกะวาตะ ลมที่คมเหมือนอาวุธ หมายถึง เมื่อเกิดอาการจะมีอาการฉับพลัน เจ็บปวดลึกๆ เหมือนดังอาวุธเสียบแทง จากลักษณะดังกล่าวอาการคล้ายกับภาวะขาดเลือด เช่น กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรืออวัยวะใดๆ ขาดเลือดจะมีอาการเจ็บปวดรุนแรง
– สุมนาวาตะ ลมที่ควบคุมพลังที่อยู่เส้นกลางลำตัวตามแนวดิ่ง ในตำราการนวดไทยเส้นสุมนาถูกจัดเป็นเส้นสำคัญในเส้นสิบ เส้นนี้จะวิ่งกลางลำตัวจรดปลายลิ้น จึงน่าจะเป็นตัวควบคุมระบบประสาท การไหลเวียนโลหิตสมอง ไขสันหลัง ระบบอัตโนมัติต่างๆ การซักถามอาการควรถามเกี่ยวกับการทำงานของแขนขา การปวดเจ็บหลัง การชัก การกระตุก ตำราโบราณกล่าวว่าอาการลิ้นกระด้างคางแข็งเกิดจากสุมนา แสดงว่าน่าจะเกี่ยวกับสมอง ประสาท
- ธาตุไฟ มีสิ่งสำคัญในการควบคุมสุขภาพอยู่ 3 อย่าง คือ
– พัทธปิตตะ คือดีในฝัก บางท่านอาจสับสนว่าน้ำดีคือธาตุน้ำ เหตุใดจึงจัดเป็นไฟ ผู้เขียนเข้าใจว่าพัทธปิตตะในที่นี้ คือการควบคุมการทำงานของน้ำดีและการย่อยสลายจากการทำงานของน้ำดี ส่วนน้ำดีจัดเป็นธาตุน้ำ อาการบ่งบอกการทำงานที่ผิดปกติไป จึงน่าจะหมายถึงการปวดท้อง น้ำดีอุดตัน ภาวะการผลิตน้ำดีของตับผิดปกติ ตับอักเสบเกิดอาการตัวเหลือง ตาเหลือง เกิดน้ำดีอักเสบเป็นนิ่ว เป็นต้น เป็นเรื่องที่ควบคุมการทำงานของธาตุน้ำเป็นอาการบ่งบอกถึงการทำงานที่ผิดปกติไป จึงน่าจะหมายถึงการปวดท้อง น้ำดีอุดตัน เป็นเรื่องที่ควบคุมการทำงานของน้ำดีในตับ และถุงน้ำดีที่เรียกว่าในฝักนั่นเอง
– อพัทธะปิตตะ ดีนอกฝัก หมายถึง การทำงานของน้ำดีในลำไส้ การย่อยอาหาร อาการคือจุกเสียด อืดเฟ้อ อาหารไม่ย่อย ดีนอกฝักพิการ จะทำให้เหลืองทั้งตัว ดีในฝักพิการจะมีอาการคุ้มคลั่งเหมือนผีเข้า ถ่ายเป็นสีเขียว
– กำเดา องค์แห่งความร้อน เป็นตัวควบคุมความร้อนในร่างกาย น่าจะหมายถึงศูนย์ควบคุมอุณหภูมิของร่างกายนั่นเอง การตรวจสามารถดูที่อาการไข้ว่าตัวร้อนจัดหรือไม่เพียงใด
- ธาตุดิน ควรรับประทานอาหารรสฝาด หวาน มัน เค็ม ได้แก่ มังคุด ฝรั่งดิบ ฟักทอง เผือก ถั่วต่างๆ เงาะ น้ำนม น้ำอ้อย เกลือ ฯลฯ
- ธาตุน้ำ ควรรับประทานอาหารรสเปรี้ยว รสขม ได้แก่ มะกรูด มะนาว ส้ม สับปะรด มะเขือเทศ มะระ สะเดา ฯลฯ
- ธาตุลม ควรรับประทานอาหารรสเผ็ดร้อน ได้แก่ ขิง ข่า ตะไคร้ กระชาย พริกไทย โหระพา กะเพรา ฯลฯ
- ธาตุไฟ ควรรับประทานอาหารรสขม เย็น จืด ได้แก่ ผักบุ้ง ตำลึง แตงโม บัวบก ขี้เหล็ก ฯลฯ
ขอบคุณที่มาจาก : กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
ขอบคุณภาพจาก : looseweightwith100dietfoods.blogspot.com